1.ประวัติความเป็นมาที่สอดคล้องกับแนวคิด “ธุรกิจวิชาการ”


สำนักกฎหมาย เริ่มต้นจากกลุ่มงานนิติการซึ่งเป็นส่วนงานหนึ่งของกองบริหารงานบุคคล สังกัดสำนักงานอธิการบดี เท่านั้น แต่เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้ปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ทำให้ภาระหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในด้านกฎหมายและงานนิติการมีมากมาย หลากหลาย โดยเมื่อคณะ สำนัก สถาบันและศูนย์การศึกษาในสังกัด ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีปัญหายุ่งยาก ซับซ้อน ในการปฏิบัติงาน ตลอดจนถึงการตีความ ระเบียบ กฎหมาย ที่ต้องใช้ในการปฏิบัติงานของส่วนงานต่างๆ ไม่สามารถปฏิบัติหรือตัดสินใจดำเนินการได้ ก็จะส่งเรื่องหรือคำปรึกษาให้มหาวิทยาลัยพิจารณาหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและระเบียบนั้นให้ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังเห็นว่างานบริหารบุคคล ในเรื่องเกี่ยวกับวินัย การอุทธรณ์ร้องทุกข์ และการให้ออกจากการเป็นบุคลากรควรจะแยกออกจากการบริหารงานบุคคลด้านอื่นด้วย เพราะการดำเนินการและปฏิบัติการ ดังกล่าวต้องใช้ตัวบทกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาดำเนินการ อีกทั้งเพื่อให้มีการพัฒนาระบบงาน ด้านกฎหมายอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับภารกิจด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภารกิจให้มีความเด่นชัดขึ้นและเพื่อให้บุคลากรและส่วนราชการได้รับความยุติธรรมและเที่ยงธรรม ตลอดจนการพัฒนางานพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายการศึกษาและกฎหมายมหาชน


มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต โดยสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงยกฐานะกลุ่มงานนิติการเป็นกองกฎหมายตามมติการประชุมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ครั้งที่ 6 17)/2549 และได้ประกาศไว้ณ วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา


ต่อมามหาวิทยาลัยสวนดุสิตได้ยกเลิกกองกฎหมายและออกประกาศจัดตั้งเป็นสำนักกฎหมายตามประกาศมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เรื่อง การจัดตั้งส่วนงานของมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2567เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 โดยมีสถานะเป็นหน่วยงานอิสระ มุ่งหวังให้ทำหน้าที่ด้านกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของมหาวิทยาลัย ให้เป็นระบบ มีความยืนหยุ่นและคล่องตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ของสังคม รวมถึงให้การสนับสนุนกิจการของมหาวิทยาลัย และด้านธุรกิจวิชาการของมหาวิทยาลัยสามารถสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่างๆ ในสังคมยุคดิจิทัล

2.วัตถุประสงค์ของของการจัดตั้งสำนักกฎหมาย

  1. สนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย : สำนักกฎหมายจะให้คำปรึกษาและสนับสนุนงานด้านกฎหมายในการพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และการวิจัย เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานการศึกษา
  2. สำนักกฎหมายจะมีบทบาทสำคัญในการจัดการด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร เช่น การจ้างงานการเลิกจ้าง และการดูแลสวัสดิการของบุคลากรให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงาน ข้อบังคับ และระเบียบ
  3. สนับสนุนการดำเนินการธุรกิจวิชาการ : สำนักกฎหมายจะช่วยดูแลด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการธุรกิจวิชาการ เช่น การร่างและตรวจสอบสัญญา การจัดการข้อพิพาท และการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  4. การบริหารความเสี่ยงทางกฎหมาย : สำนักกฎหมายจะมีบทบาทในการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยและเสนอแนวทางป้องกันและลดความเสี่ยง
  5. ดำเนินการในการจัดทำข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง ตามนโยบายของสภามหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย

3.การดำเนินงานที่สอดคล้องกับสอดรับกับมิติ “The Power of SDU”

  1. พัฒนา ปรับปรุง ข้อบังคับ และระเบียบต่างๆ ของมหาวิทยาลัยให้ทันสมัย ยืดหยุ่น สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย และเท่าทันสภาพการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยยึดแนวทางธรรมาภิบาล
  2. พัฒนา ปรับปรุง ข้อบังคับ และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหารายได้ เช่น การให้บริการ วิชาการ การวิจัย การพัฒนานวัตกรรมและการให้เช่าพื้นที่ ให้มีความยืดหยุ่นแต่ยังคงความโปร่งใส
  3. จัดทำแพลตฟอร์มดิจิทัล สำหรับการให้บริการด้านกฎหมาย เช่น ระบบจัดการสัญญาออนไลน์ระบบยื่นคำร้องเกี่ยวกับกฎหมาย ระบบการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย และอัพเดทฐานข้อมูลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยให้เป็นปัจจุบัน
  4. จัดอบรมผู้ปฏิบัติงาน ในสำนักกฎหมายให้มีความรู้ด้านกฎหมายเชิงพาณิชย์และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้มีศักยภาพ สามารถทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเชิงรุก สำหรับส่วนงาน หน่วยงาน และหน่วยงานอิสระ
  5. สร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านกฎหมายกับสถาบันการศึกษา และหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาค ธุรกิจเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และทรัพยากร
  6. ทั้งนี้เพื่อให้นโยบาย The Power of SDU เกิดการขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีข้อบังคับระเบียบ และประกาศต่างๆ ของมหาวิทยาลัยที่ได้ออกมาบังคับใช้โดยผ่านกระบวนการพิจารณาที่รวดเร็ว ยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการตามนโยบายของมหาวิทยาลัย

4. ผู้ให้ข้อมูล


ดร.สฤษดิ์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย
โทรศัพท์ 02-2445147

5. การติดต่อ

สำนักกฎหมาย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
295 ถนนนครราชสีมา ดุสิต กทม 10300
เว็บไซต์ https://sdulaw.dusit.ac.th/
โทรศัพท์ 02-244-5144-5147

6. ภาคผนวก

  1. คำสั่งมหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่ 2174/2567 เรื่อง แต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย
  2. คำสั่งมหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่ 4408/2567 เรื่อง แต่งตั้งรองผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย

ตามที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ต้องปรับตัวและโครงสร้างการบริหารจัดการองค์กรใหม่เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์และการดำเนินงานตามนโยบายและภารกิจของมหาวิทยาลัย กองกฎหมายเป็นหน่วยงานที่สำคัญอย่างหนึ่งของการขยายภารกิจของมหาวิทยาลัย ที่มีความต้องการใช้ผู้มีความรู้ และประสบการณ์ด้านกฎหมายธุรกิจ และกระบวนการทางธุรกิจมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจวิชาการเพื่อความเชี่ยวชาญด้านการบริหารสัญญาทางธุรกิจกฎหมายภาษี รวมทั้งกฎหมายการค้าเกี่ยวกับต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องขยายงานทางด้านกฎหมายของกองกฎหมายให้กว้างขวางและครอบคลุมภารกิจมากขึ้น จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้