เล่าชีวิต ณ สวนดุสิต ด้วยหัวใจใกล้ชิดสิ่งแวดล้อม
เริ่มต้นก้าวแรกเข้ามาในรั้วครอบครัวมหาวิทยาลัยสวนดุสิต (SDU) สามารถสัมผัสรับรู้ถึงบรรยากาศน่ารัก ๆ และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ณ สถานที่แห่งนี้ ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานอันเต็มเปี่ยมด้วยความรักและความอบอุ่นจากพี่ ๆ น้อง ๆ และเพื่อน ๆ แห่ง มสด ทั้งนี้ จากการดำเนินชีวิตด้วยหัวใจอันใกล้ชิดกับสวนดุสิตสถานที่แห่งความรัก ก็ค้นพบและตระหนักถึงสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตนเองได้มากมาย ซึ่งสามารถนิยามคำศัพท์ในใจความสำคัญอันเข้าใจง่าย ๆ ด้วยคำว่า “สิ่งแวดล้อม” (Environment)
อนึ่ง เมื่อพิจารณาถึง “สิ่งแวดล้อม (Environment) อันหมายความว่าสิ่งต่าง ๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพที่อยู่รอบตัวมนุษย์และเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมยังเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ทั้งที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าและไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยเป็นได้ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต จะสามารถสังเกตและ
อธิบายได้ว่าสิ่งแวดล้อมแบ่งประเภทออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
ประเภทแรก สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (Natural Environment) กล่าวคือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบ ๆ ตัวมนุษย์ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยสามารถแบ่งย่อยออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
- สิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต (Biotic Environment) หรือสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ หมายความว่า สิ่งแวดล้อมที่ใช้ระยะเวลาในการเกิดสั้นและสามารถเพิ่มจำนวนขึ้นมาทดแทนใหม่ได้ ขณะเดียวกันก็สูญสิ้นไปใต้หากเกิดการทำลายธรรมชาติให้เสียสมดุล ได้แก่ ป่าไม้ สัตว์ ทุ่งหญ้า เป็นต้น
- สิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต (Ablotic Environment) หรือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ หมายความว่า สิ่งแวดล้อมที่ธรรมชาติสร้างขึ้นบางชนิดใช้เวลานานในการเกิดยาวนานจนไม่สามารถรอใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมได้ เช่น เชื้อเพลิง แร่ธาตุดิน หิน น้ำ อากาศ เป็นต้น
ประเภทที่สอง สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-Made Environment) กล่าวคือ สิ่งที่มนุษย์
สร้างขึ้นทั้งทีตั้งใจและไม่ตั้งใจ มองเห็นหรือมองไม่เห็น จับต้องได้หรือจับต้องไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์
สร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการของตนเอง อันจะช่วยให้มนุษย์ดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข คุณภาพชีวิตดี
โดยสามารถแบ่งย่อยออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
- สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) มีลักษณะเป็นรูปธรรมเป็นสิ่งแวดล้อมที่มองเห็นและจับต้องได้ มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกและสนองความต้องการ ขั้นพื้นฐานของตนเอง ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เป็นต้น
- สิ่งแวดล้อมทางสังคม (Social Environment) มีลักษณะเป็นนามธรรม มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของการอยู่ร่วมกันในสังคม เช่น ประเพณี กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมาย รวมแต่ยังหมายรวมถึงสิ่งต่าง ๆ บนโลกใบนี้ อันผูกโยงสัมพันธ์กันและกัน ยกตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างPM 2.5 เป็นต้น
มหาวิทยาลัยสวนดุสิตตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย เมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่ามีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทางอากาศ ทั้งเรื่องมลภาวะ ควันพิษ หรือฝุ่น PM 2.5 อันส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของทุกคน ทั้งนี้ ด้วยเหตุดังกล่าว มหาวิทยาลัยจึงให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมด้วยเช่นกัน ดังนั้น วิธีการช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ช่วยโลก ช่วย มสด. ช่วยพวกเรา จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อสิ่งแวดล้อมทางสภาพอากาศที่ดีขึ้น อันได้แก่
- ปลูกต้นไม้เพื่อช่วยการฟอกอากาศ
- ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
- งดการเผาในที่โล่ง
- หมั่นเช็คสภาพรถยนต์เพื่อลดควันดำจากท่อไอเสีย
- ดับเครื่องยนต์ของยานพาหนะทุกชนิดทุกครั้งเมื่อจอด
- ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศภายในอาคาร
เมื่อพิจารณาและกล่าวต่อไปอีกว่า ในโลกปัจจุบันการปลูกต้นไม้เพื่อฟอกอากาศเป็นลักษณะนิยมที่ผู้คนกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะว่านอกจากจะให้ความสวยงามสบายตาแล้ว ยังทำให้อากาศภายในบ้านสดชื่นอีกด้วย ต้นไม้ที่มีคุณสมบัติในการฟอกอากาศและเป็นไม้อันเหมาะสำหรับการนำมาปลูก โดยมีการจัดวางตามจุดต่าง ๆ ของบ้านนั้น มีหลากหลายพรรณไม้ ยกตัวอย่างเช่น ต้นยางอินเดีย พลูด่าง เศรษฐีเรือนใน เศรษฐีพันล้าน ลิ้นมังกร เขียวหมื่นปี เดหลี ไทรใบสัก กวักมรกต เป็นต้น ทั้งนี้ ต้นไม้แต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติและการดูแลที่แตกต่างกันไปด้วย ควรต้องศึกษารายละเอียดก่อนนำมาปลูกด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึง “สิ่งแวดล้อม มสด.” นั้น มิใช่การคำนึงถึงลักษณะปัญหาทางสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว เพราะว่าผู้เขียนยังคงต้องคำนึงถึงพลังงานทางบวกที่สัมผัสผ่านจากมุมมองทางความคิดและความรู้สึกได้ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ การคำนึงถึงบรรยากาศการทำงาน การคำนึงถึงกฎหมายสิ่งแวดล้อม การคำนึงถึงความสร้างสรรค์และการรักษาเพื่อพัฒนาความเป็นเอกลักษณ์ไว้ซึ่งความเป็นอันดับหนึ่งแห่งมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และการคำนึงถึงการต่อยอดจากความเป็น มสด. สู่สังคม โดยสามารถถ่ายทอดความคิดเห็นดังกล่าวได้ดังต่อไปนี้ คือ
ประการแรก บรรยากาศการทำงานสำหรับผู้เขียน ผู้เขียนรู้สึกประทับใจและชื่นชมทุก ๆ ท่านว่ามีความน่ารักและมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นท่านผู้บริหาร บุคลากรตั้งแต่พนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ สายสนับสนุน สายบริการ ลูกจ้าง และทุกท่าน สิ่งแวดล้อมแห่งนี้อยู่อาศัยด้วยกันอย่างครอบครัว กล่าวคือการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความเข้าใจ และความสามัคคีในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งงานอันสะท้อนออกมาให้เห็นว่า พวกเราทุกคนตั้งใจทำงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อพัฒนาและเป็นประโยชน์ต่อองค์กรของพวกเราให้ได้มากที่สุด
และประการถัดมา ผู้เขียนตระหนักถึงการรักษาและการต่อยอดทางด้านวัตถุดิบเพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ทางอาหาร ทางขนม และการท่องเที่ยว กล่าวคือ เมื่อกล่าวถึงคำว่า “มหาวิทยาลัยสวนดุสิต” จะนึกถึงความเป็นเอกลักษณ์ทางด้านอาหารและด้านขนม เช่น Home Bakery โรงแรมสวนดุสิต เพลส เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่นำไปสู่ผลลัพธ์ จึงต้องมีกระบวนการที่ถูกต้อง สะอาด และปลอดภัย ในทุก ๆ ด้าน ดังนั้น การรักษาและการปกป้องสิ่งแวดล้อมในส่วนบรรยากาศ การบริการและการท่องเที่ยว หรือการรักษาความสะอาด จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่อคุณภาพแห่ง มสด.
จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่าประเทศไทยของพวกเรา นอกจากจะมีความรู้ทางวิชาการตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วนั้น ก็ได้มีบทบัญญัติทางกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ อันเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถยกตัวอย่างได้เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ และกฎหมายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment) เป็นต้น ช่วยควบคุมทำให้สิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลาย อันทำให้มนุษย์และสิ่งแวดล้อมอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข อีกทั้งการดำเนินชีวิตด้วยหัวใจอันใกล้ชิดกับสวนดุสิตสถานที่แห่งความรักนี้ให้ดีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะต้องศึกษาเรื่อง สิ่งแวดล้อม มสด อย่างเข้าใจ เมื่อได้ศึกษาอย่างเข้าใจแล้ว จะทำให้ผู้อ่านบทความฉบับนี้ได้เล็งเห็นสาระสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น หรือผู้อ่านสามารถที่จะต่อยอดทางทัศนะคติความคิดต่อไปอีกได้ด้วย รวมถึงยังสามารถช่วยกันร่วมมือร่วมใจกันเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในทุก ๆ ทางภายในรั้วมหาวิทยาลัยสวนดุสิตและโลกของพวกเราให้มีความน่าอยู่สืบไป